ยุโรป คือฝันของนักฟุตบอลอาชีพทุกคน เพราะที่นี่คือดินแดนของฟุตบอลยุคใหม่ที่ล้ำหน้าทั้งเรื่องการจัดการ แทคติก และวิถีความเป็นมืออาชีพ
สำหรับชาวเอเชียอย่างเรานั้น แค่ได้ก้าวไปถึงจุดนั้นได้ต่อให้ไม่ต้องได้ลงสนามมากมายหรือกลายเป็นตัวเก่งของทีมในระดับแถวหน้าของยุโรปก็มักจะได้คำชมว่าเก่งและเจ๋งมากพอแล้ว แต่เหนือสิ่งอื่นใดมันยังมีโลกอีกใบที่นักเตะเอเชียหลายคนไปไม่ถึง
นั่นคือการเล่นในยุโรปเป็นเวลานาน ๆ โดยรักษามาตรฐานการเล่นและสภาพร่างกายของตัวเองไว้ได้ ก่อนจะกลายเป็นกัปตันและเป็นตำนานของทีมที่ยังค้าแข้งอยู่ด้วยสถานะตัวหลักในวัยใกล้ ๆ 40 ปี
นี่คือเรื่องราวของ มาโกโตะ ฮาเซเบะ นักเตะกองกลางชาวญี่ปุ่นที่เล่นในลีกเยอรมันมามากกว่า 15 ปี และผ่านการแข่งขันมากว่า 500 นัด … อะไรคือสิ่งที่ทำให้นักเตะเอเชียคนหนึ่งไม่ยอมถอยกลับไปเล่นในบ้านเกิดเมื่ออายุเยอะเหมือนกับนักเตะหลาย ๆ คน ?
ฝันของทุกคน
อย่างที่ได้เกริ่นนำไป ฟุตบอลยุโรปคือหมุดหมายปลายทางของนักฟุตบอลอาชีพทุกคนบนโลกนี้ ทั้งหมดมันเป็นเรื่องของความก้าวหน้าในอาชีพและทุกอย่างที่ตอบโจทย์ครบทุกด้าน ไม่ว่าจะรายรับ, คุณภาพชีวิต, วิทยาการต่าง ๆ รวมถึงการทำให้ตัวเองได้กลายเป็นนักฟุตบอลที่ดีขึ้นยิ่งกว่าเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย
สำหรับนักเตะเอเชียนั้น หากเราย้อนกลับไปสักช่วงยุค 90s นั้นการได้ไปเล่นในยุโรปถือเป็นเรื่องที่แปลกใหม่น่าสนใจ ใครที่ไปเล่นยุโรปได้ก็ต้องเป็นนักเตะระดับหัวกะทิของเอเชียจริง ๆ และนักเตะพวกนี้จะถูกสื่อตามทำข่าวแทบทุกอิริยาบถ เรียกง่าย ๆ ก็คือมันแทบจะเป็นวาระแห่งชาติเลยก็ว่าได้ เราได้เห็นนักเตะอย่าง ฮิเดโตชิ นากาตะ หรือ อาลี ดาอี ที่เป็นนักเตะเอเชียที่สร้างกระแสในลีกยุโรปเป็นชาติแรก ๆ พวกเขากรุยทางส่งต่อมาถึงรุ่นหลัง ๆ และมันทำให้นักเตะเอเชียได้ไปเล่นในยุโรปง่ายขึ้นหลังยุค 2000s เป็นต้นมา โดยเฉพาะนักเตะญี่ปุ่นกับลีกบุนเดสลีกานั้นมีการส่งออกนักเตะไปที่เยอรมันเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ และ มาโกโตะ ฮาเซเบะ ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ฮาเซเบะ เริ่มเล่นฟุตบอลในช่วงมัธยมและเป็นตัวแทนของโรงเรียน ไปแข่งขันตามรายการต่าง ๆ จนเริ่มเข้าตาทีมใหญ่ของประเทศอย่าง อูราวะ เรด ไดมอนด์ส ที่เซ็นสัญญาเขาไปร่วมทีมด้วยเหตุผลหลัก ๆ คือเรื่องของฝีเท้า และเหนือสิ่งอื่นใดคือ “คาแร็กเตอร์”
ในสารคดีชีวิตของ มาโกโตะ ฮาเซเบะ ของช่อง นั้นได้มีการตามไปสัมภาษณ์โค้ชของ ฮาเซเบะ สมัยที่ยังเล่นให้ทีมมัธยม โดยโค้ชคนดังกล่าวได้บอกว่า
“เดิมทีแล้วเมืองฟูจิเอดะของเราเป็นเมืองที่บ้าคลั่งฟุตบอลกันแบบสุด ๆ เรียกได้ว่าถ้าคุณเป็นเบอร์ 1 ของที่นี่ คุณสามารถไปเล่นฟุตบอลที่ไหนในประเทศก็ได้ สำหรับ ฮาเซเบะ นั้นก็เป็นเบอร์ 1 ของเรา เขาผู้นำโดยธรรมชาติ เป็นคนที่ต่อให้คุณมองไม่เห็นปลอกแขนกัปตันทีมของเขาคุณก็รู้ได้ว่าเขาเป็นกัปตันของเรา”
ตัวของ ฮาเซเบะ ก็บอกไม่ต่างกันในแง่ของการจะกลายเป็นนักเตะที่ดีที่สุดจนถึงขั้นได้ไปเล่นในยุโรป เขาเองก็ไม่เคยพอใจกับผลงานของตัวเองต่อให้ใครจะชมว่าเขาเป็นเด็กที่เก่งขนาดไหน แม้จะเป็นกัปตันและเบอร์ 1 ของทีมโรงเรียน แต่ ฮาเซเบะ ยังคงต้องตั้งใจซ้อม ตั้งใจเรียนรู้สิ่งที่โค้ชสอนอยู่ทุกวัน โดยที่ไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องลำบากยากเย็นเข็นใจเหมือนกับมันเป็นกิจกรรมหลักของชีวิตเขา เหมือนกับการที่ตื่นมาต้องล้างหน้าแปรงฟัน ก่อนนอนต้องดื่มน้ำสักแก้ว … เรื่องการฝึกหนักเพื่อก้าวกระโดดให้ไกลกว่าที่ตัวเองคิดคือเรื่องธรรมดา ๆ ที่ ฮาเซเบะ ทำมาตลอดจนถึงทุกวันนี้
“ตอนมัธยมเราแทบจะฝึกซ้อมกันตลอดเวลา การซ้อมส่วนใหญ่เป็นการฝึกวิ่งอย่างต่อเนื่อง เราฝึกการ (การฝึกซ้อมท่าวิ่งให้ถูกต้องเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อที่สำคัญต่อการวิ่ง) มาเป็นพัน ๆ ครั้ง เราพยายามจะทำให้ทักษะการครองบอลเป็นเลิศที่สุด ทุกอย่างสามารถตั้งอยู่บนคำว่า ‘หนักหน่วงสุด ๆ’ นั่นแหละที่ทำให้ผมกลายเป็นผมทุกวันนี้” ฮาเซเบะ กล่าวภายหลัง
เมื่อยุโรปไม่ใช่เรื่องง่าย มันจึงมีความหมายว่าคุณจะต้องฝึกหนักและแข็งแกร่งกว่าคนอื่น ฮาเซเบะ เข้าใจจุดนั้นและทำมันซ้ำมาตลอด ตั้งแต่ตอนที่เล่นให้กับทีมโรงเรียนมัธยมจนถึงขั้นเข้าสู่ระบบทีมเยาวชนจนถึงขั้นสูงสุดในประเทศและทวีป นั่นคือการคว้าแชมป์ลีกและแชมป์เอเชียร่วมกับ อูราวะ เรดส์
เมื่อในเอเชียไม่มีอะไรให้ต้องพิสูจน์ตัวเองอีกแล้ว มันจึงเป็นทางแยก 2 ทางของนักเตะที่อยู่ในระดับ “หัวแถวของลีกรอง ๆ” นั่นคือการพยายามให้หนักขึ้นไปอีกเพื่อไปเล่นในเกมที่มีมาตรฐานสูงกว่า หรือทางที่สองคือการพยายามรักษามาตรฐานของตัวเองและประคองตัวไว้ในการเล่นที่เดิมที่จะได้รับทั้งชื่อเสียง เงินทอง รวมถึงความสะดวกสบายในระดับหนึ่ง โดยไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งสู้ใหม่ในต่างแดน
แน่นอนอย่างที่ทุกคนรู้กัน มาโกโตะ เลือกทิ้งชื่อเสียงทั้งหมดที่เขามีในญี่ปุ่นบินลัดฟ้าไปค้าแข้งในเยอรมันกับ โวล์ฟสบวร์ก … และเริ่มสร้างชื่อในฐานะ “เดอะ บอส” ซึ่งเป็นฉายาที่หลายคนเรียกเขาในภายหลัง
เลือกให้ฉลาด อย่ากลัวความเหนื่อย
แต่เดิมก่อนที่ ฮาเซเบะ จะได้ย้ายมาเล่นที่เยอรมัน มีข่าวหลังจากเขาคว้าแชมป์เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก กับ อูราวะ ว่าสโมสรใน อิตาลี อย่าง เซียน่า ก็อยากจะเซ็นสัญญากับเขาเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ฮาเซเบะ ที่เป็นคนที่คิดเรื่องการวางแผนและวาดภาพไว้ในหัว ทุกอย่างที่เขาทำผ่านกระบวนการทางความคิดมาพอสมควร เขาเปลี่ยนใจไปเซ็นสัญญากับ โวล์ฟสบวร์ก เพราะเชื่อว่าเยอรมันคือที่ที่เหมาะกับนักเตะแบบเขามากกว่า
“ผมชอบระเบียบวินัยของเยอรมัน ไม่ใช่แค่เรื่องในสนามฟุตบอลเท่านั้นนะ ผมยังชอบความเป็นคนตรงต่อเวลาของคนเยอรมัน เพราะที่ญี่ปุ่นก็เป็นเหมือนกัน วิถีเหล่านี้มันก็ค่อนข้างจะง่ายกว่าสำหรับการปรับตัวของผม” ฮาเซเบะ กล่าวในช่วงแรกของชีวิตใหม่ที่เยอรมัน และเขาก็คิดถูกจริง ๆ เพราะหลังจากย้ายมาในปี 2008 ได้เพียงปีเดียว ฮาเซเบะ ก็คว้าแชมป์บุนเดสลีกา (แชมป์ลีกสูงสุด) ร่วมกับต้นสังกัดใหม่ได้ทันที
มันจะมีอะไรเหมาะสมไปกว่านี้ เมื่อคนหนุ่มที่มีฝันที่ไม่เคยกลัวคำว่าเหนื่อยได้มาอยู่ในลีกฟุตบอลที่ขึ้นชื่อเรื่องระบบและวินัยเป็นส่วนสำคัญ สำหรับ ฮาเซเบะ เขาไม่ใช่นักเตะที่เก่งกาจเรื่องของเทคนิคมากมายนัก เขาไม่ใช่คนที่มีลีลาสวย แต่สิ่งที่เขาเป็นและแสดงออกมาให้เห็นตลอดคือการเป็น 1 ใน “มดงาน” ที่ทุก ๆ ทีมจำเป็นต้องมี
นักเตะที่มีความเข้าใจเกมสูง ขยันแบบถูกที่ถูกเวลา มีสภาวะทางจิตใจที่แข็งแกร่ง โดย ฮาเซเบะ เล่าว่าในช่วงแรก ๆ ที่เขามาเล่นกับ โวล์ฟส์บวร์ก ตำแหน่งของเขาก็ไม่แน่ว่าจะต้องเป็นกองกลางจอมทัพของทีมตลอด หลายครั้งที่ทีมต้องการนักเตะในตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็กหรือแม้แต่แบ็กขวาเขาก็สามารถเล่นได้ เพราะทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่ผ่านมาในการซ้อมทั้งนั้น นอกจากนี้เขายังเข้าใจว่าหัวใจสำคัญที่สุดคือความฟิต เพราะเมื่อคุณฟิตมากพอ มีแรงถึงตลอด ความผิดพลาดในการแข่งขันก็จะน้อยลง ต่อให้เล่นตำแหน่งไหนก็สามารถเอาตัวรอดประคองตัวไปได้แบบไม่ยากเย็นนัก
คุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวเป็นเหตุผลที่ทำให้ เฟลิกซ์ มากัธ กุนซือของ โวล์ฟส์บวร์ก ในเวลานั้นชื่นชอบและประทับใจในตัวของ ฮาเซเบะ มาก โดย ฮาเซเบะ เล่าว่าเหตุผลของการได้แชมป์ลีกแบบสุดเซอร์ไพรส์ก็เกิดขึ้นเพราะการฝึกซ้อมหนักแบบที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน
“จริง ๆ ก็เคยได้ยินอยู่บ้างว่า เฟลิกซ์ มากัธ คือโค้ชที่เคี่ยวเรื่องการฝึกซ้อมมาก แต่พอมาเจอจริง ๆ ก็ต้องบอกว่ามันยิ่งกว่าที่คิดไว้เยอะเลย การซ้อมแต่ละวันที่นั่นหมือนกับเขาจะต้ั้งใจทำให้คุณตายคาสนามให้ได้ … เราก็ทำแบบนั้นไปทุก ๆ วัน หลังจากนั้นผ่านไปไม่ถึงปีพวกเราก็กลายเป็นแชมป์ลีกเยอรมัน”
“ผมเองก็ไม่อยากจะเชื่อแต่มันก็เป็นไปแล้ว ถ้าให้มองย้อนกลับไปก็คงต้องบอกว่ามันเป็นช่วงเวลาสุดแสนพิเศษในชีวิตของผมเลย” ฮาเซเบะ กล่าว
ฮาเซเบะ มีช่วงเวลาดี ๆ มากมายที่ โวล์ฟสบวร์ก เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นบนหน้าสื่อระดับโลก เขาขยับก้าวขึ้นมาเป็นกัปตันทีมชาติญี่ปุ่น ทุกอย่างเป็นไปตามวิถีของนักเตะระดับมืออาชีพ เขาอยู่ที่นั่นนานถึง 6 ปี จนถึงวันที่อายุใกล้ ๆ แตะเลข 3 ทีมงานของโวล์ฟสบวร์กก็มองว่า ฮาเซเบะ ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิมและมีอาการบาดเจ็บรบกวนมากขึ้น อายุก็เริ่มเยอะขึ้นจึงสมควรแก่เวลาสำหรับการเปลี่ยนถ่ายเพื่อเอานักเตะที่หนุ่มกว่ามาเล่น … จากนั้น ฮาเซเบะ ก็ถูกขายให้กับ เนิร์นแบร์ก ทีมปลายแถวของลีก ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า “ขาลงของเขากำลังจะมาถึงแล้ว”
ขยันแค่ไหนก็ร่วงได้ … แต่คนจริงไม่ถอดใจ
ต่อให้ขยัน มุ่งมั่น มีวินัยแค่ไหน แต่นักฟุตบอลทุกคนล้วนมีช่วงเวลาที่ไม่ดีกันทั้งนั้น ฮาเซเบะ เองก็เช่นกัน ในช่วงอายุย่าง 30 ปีเขามักจะได้รับอาการบาดเจ็บที่ทำให้เขาพลาดการลงสนามบ่อย ๆ แม้กระทั่งการย้ายมาที่เนิร์นแบร์กก็ไม่ต่างอะไรนัก เขาเซ็นสัญญากับทีม 3 ปี แต่ได้ลงเล่นแค่ 14 เกมเท่านั้นในซีซั่นแรก และเป็นซีซั่นเดียวกับทีมด้วย
หลังจบฤดูกาล 2013-14 ที่ เนิร์นแบร์ก ตกชั้น ฮาเซเบะ ถูกขายต่อให้กับทีมในบุนเดสลีกาอีก 1 ทีมอย่าง ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต ที่มีโค้ชคือ นิโก้ โควัช กุนซือที่เคี่ยวเรื่องระบบทีมและชอบใช้นักเตะที่มีทัศนคติบวกเหมือนกับที่ มากัธ เป็น … นี่แทบจะเป็นโอกาสสุดท้ายของฮาเซเบะแล้วสำหรับฟุตบอลระดับสูงในเยอรมัน หากเขาไม่ดีพอที่จะเป็นตัวหลัก การเล่นในลีกรอง หรือกลับไปโกยเงินในลีกที่มีคุณภาพต่ำกว่า หรือแม้กระทั่งเลือกความสุขเช่นการกลับมาเล่นแบบสโลว์สไลฟ์ในเจลีกก็คงจะเป็นทางออกที่รออยู่
อย่างไรก็ตาม ฮาเซเบะ ในวัย 30 ปียังคงเป็นคนเดียวกับ ฮาเซเบะ ในวันที่ย้ายมาที่เยอรมันครั้งแรก เขาไม่ยอมรับว่าตัวเองล้มเหลวและหมดสภาพเกินกว่าที่จะเล่นในลีกนี้ และเขาเลือกที่จะมาเป็นลูกน้องของ โควัช ด้วยเหตุผลที่การคุยกันก่อนย้ายมาที่เขาชอบวิสัยทัศน์และการตั้งเป้าหมายที่จะค่อย ๆ สร้างทีมใหม่โดยใช้นักเตะที่มีความมุ่งมันเป็นอันดับแรก
“แรก ๆ เรามีปัญหาเล็กน้อยในตอนที่ย้ายมาใหม่ เพราะมีโค้ชและนักเตะคนใหม่เข้ามาหลายคน มันเป็นเรืองธรรมดาที่เราต้องใช้เวลากันบ้าง”
โควัช เริ่มเห็นบางสิ่งบางอย่างในตัวของ ฮาเซเบะ ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ ความเข้าใจเกม และประสบการณ์ ทำให้เขาตกผลึกว่าต่อไปนี้ ฮาเซเบะ จะได้ตำแหน่งหลักของเขา นั่นคือการเป็นมิดฟิลด์ที่ยืนอยู่หน้ากองหลังคล้าย ๆ กับที่ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ เคยเล่นให้กับทีมชาติเยอรมันตะวันตกเมื่อในอดีต โดย โควัช ถึงกับใช้คำว่า “ฮาเซเบะ เหมือนกับกาวอเนกประสงค์ที่ยึดแฟรงค์เฟิร์ตเอาไว้ด้วยกัน” เลยทีเดียว
เมื่อได้ตำแหน่งใหม่และเป็นอะไรที่เจ้าตัวคิดว่าเหมาะสม ฮาเซเบะ จึงเริ่มมองเห็นเป้าหมายของเขาใหม่อีกครั้ง เพราะตำแหน่งตัวคุมเกมที่ยืนหน้ากองหลังเป็นตำแหน่งที่ใช้การปะทะน้อย ดังนั้นมันจึงเหมาะมากสำหรับนักเตะที่อายุเริ่มมากขึ้นและเคยผ่านการบาดเจ็บหนักที่หัวเข่ามาก่อน
“ผมรู้สึกว่าการมาเล่นตรงนี้เปรียบเหมือนกับการเรียนรู้อีกครั้งในวัย 30 กว่า ๆ เลย พอเริ่ม ๆ เล่นไปผมเริ่มจับจุดได้จึงรู้สึกดีกับตำแหน่งนี้มาก เพราะมันคือตำแหน่งที่ใช้ประสบการณ์เป็นหลักมากกว่าร่างกาย เมื่อมาเล่นตรงนี้ผมได้รับความกดดันและโดนบีบรวมถึงเข้าปะทะน้อยกว่าตอนที่เล่นเป็นกองกลางพอสมควร ผมมีเวลามากกับลูกฟุตบอลและใช้การมองเกมที่มากขึ้น ดังนั้นผมคิดว่าผมพบบทบาทที่เหมาะกับตัวเองแล้ว … อีกอย่างพ่อกับแม่ของผมก็สอนมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าหัวใจสำคัญของการจะทำให้อะไรให้ออกมาดีนั้น เราต้องใจเย็น ๆ เข้าไว้” ฮาเซเบะ กล่าว
กว่าจะได้ตำแหน่งที่ลงตัว กว่าจะเจอวิธีการเล่นที่เหมาะกับช่วงวัยของตัวเอง ฮาเซเบะ ก็อายุ 33 ปีแล้ว แต่อย่างที่เขาได้ยืนยันด้วยตัวเองว่าเขาคือ “ฟุตบอลแมน” ดังนั้นเมื่อเขามีความสุขกับการเล่นฟุตบอลและอยู่กับทีมที่ใช่ โค้ชที่ชอบ รวมถึงได้เจอวิธีการใหม่ที่เหมาะกับตัวเอง มันจึงเป็นความสนุกที่ทำให้เขากลับมาเป็นเด็กอีกครั้งที่ยังต้องตั้งใจทำอะไรหลาย ๆ อย่างและยังคงกระหายความสำเร็จ
ในช่วงวัยที่นักเตะวัยเดียวกันกับเขาหลายคนเริ่มเดินทางมาถึงขาลง ฮาเซเบะ กลับเดินสู่ขาขึ้นอีกครั้ง เขาถูกแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในกัปตันทีมของ แฟรงค์เฟิร์ต (ฤดูกาล 2021-22 เป็นกัปตันอันดับ 3 ของทีม) และเป็นหนึ่งในคนที่ชูถ้วยแชมป์ เดเอฟเบ โพคาล ในฤดูกาล 2017-18 อย่างยิ่งใหญ่
ฮาเซเบะ อธิบายถึงเหตุผลของการสามารถรักษามาตรฐานและสภาพจิตใจให้เล่นฟุตบอลระดับสูงได้จนถึงทุกวันนี้ว่า ที่สุดแล้วมันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า 2 เรื่องหลัก ๆ สิ่งแรกคือตัวเองพอใจกับสิ่งที่เป็นขนาดไหน ? ถ้ายังอยากจะไปต่ออีกก็ต้องห้ามเบื่อที่จะเหนื่อยและพยายามให้มากขึ้น ส่วนประการที่สองคือเรื่ององค์ประกอบและบรรยากาศรอบ ๆ ตัว ถ้าได้อยู่กับคนที่มีแนวคิดและมุมมองตรงกันมันก็ทำให้ทั้งสองสิ่งบวกกันกลายเป็นแรงขับให้ตัวเองอยากมีมาตรฐานสูง ๆ ต่อไปจนถึงวันที่ร่างกายของตัวเองไม่ไหวจริง ๆ
“สำหรับผมฟุตบอลเป็นเหมือนเลือดที่วิ่งผ่านร่างกายของผม ผมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับฟุตบอลมาเป็นอันดับแรกเหนือสิ่งอื่นใด ผมไม่เคยเหยาะแหยะกับวิถีของนักฟุตบอลอาชีพ ผมใส่ใจเรื่องการกิน ใส่ใจเรื่องการนอน ผมจริงจังในการฝึก และผมตั้งใจมากในการฟื้นฟูร่างกายของตัวเอง ผมอยู่กับเรื่องน่าเบื่อพวกนี้มาตลอดชีวิต”
ตอนนี้ มาโกโตะ ฮาเซเบะ อายุ 38 ปีแล้ว แต่เขายังคงลงเล่นให้กับ แฟรค์เฟิร์ต ในฐานะตัวหลักอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 จนทุกวันนี้ … เมื่อถามว่าเขาจะเล่นในระดับนี้ไปถึงเมื่อไหร่ ฮาเซเบะ ก็ตอบได้แค่เพียงว่า “นานที่สุด ตราบเท่าที่จะเป็นไปได้ … ไม่แน่อาจจะถึง 40 ปีเลยก็ได้” มาโกโตะ ฮาเซเบะ กล่าวไว้ตอนที่เขาอายุ 34 ปี … วันนี้สิ่งที่เขาพูดไว้ใกล้จะเป็นจริง